การทำวิจัยMBA วิทยานิพนธ์ ค้นคว้าอิสระ (Independependent Study : IS ) สาขาบริหารธุรกิจ
หลักการ แนวคิด การทำวิจัยMBA
การทำวิจัยระดับปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ การทำวิจัยMBA หรือ วิทยานิพนธ์ รวมไปถึงสารนิพนธ์/ การค้นคว้าอิสระ (Independent Study: IS) ปัญหาพิเศษ สาขาบริหารธุรกิจ (Business Administration ) มีกระบวนการทำงานเช่นเดียวกันกับการทำวิจัยในสายสังคมศาสตร์อื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ บริหารการศึกษา สื่อสารมวลชน และแขนงอื่นๆ ในสายสังคมศาสตร์ นั่นคือ เป็นการค้นคว้าหรือแสวงหาความรู้ใหม่โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาค้นคว้าโดยตลอดทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัย และมีแนวความคิดหรือทฤษฎีมาสนับสนุนมีการตั้งสมมติฐานเพื่อใช้ในการทดสอบ ได้ข้อค้นพบมีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางปฏิบัติ
การทำวิจัยMBA วิจัยบริหารธุรกิจ มีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
- การค้นหาปัญหา/ หัวข้อวิจัยMBA
- การประเมินปัญหา
- การกำหนดขอบเขตของปัญหา
- การศึกษาผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง/การทบทวนวรรณกรรม
- การตั้งข้อสมมติฐาน
- การเขียนโครงร่างการวิจัย
- การสร้างเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล / วิธีดำเนินการวิจัย
- การเก็บรวบรวมข้อมูล
- การวิเคราะห์ เรียบเรียง และรายงานผลการศึกษา
- สรุปผลการวิจัย และการจัดทำรายงาน
จากประสบการณ์ช่วยเหลือ ที่ปรึกษา สอนการทำวิจัย พบว่า นักศึกษาระดับมหาบัณฑิต มักประสบกับปัญหาการทำวิจัย วิทยานิพนธ์ ค้นคว้าอิสระ ปัญหาพิเศษคล้ายๆกัน คือ การขาดความรู้ด้านสถิติและโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสม ไม่มีเวลาเนื่องจากส่วนใหญ่เรียนภาคพิเศษ ไม่ทราบว่าควรใช้ฐานข้อมูลใดในการสืบค้นข้อมูลงานวิจัย เป็นต้น
ประเภทของการวิจัยทางธุรกิจ
การวิจัยมีหลายประเภท การจัดจำแนกประเภทนั้นขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งว่าจะยึดถือสิ่งใดเป็นหลักเกณฑ์ ทั้งนี้เพราะการใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน ก็จะสามารถจำแนกการวิจัยได้หลายลักษณะ ด้วยเหตุนี้ประเภทของการวิจัยทางธุรกิจจึงแบ่งกันได้หลายรูปแบบเพราะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกดังกล่าว เช่น
การจำแนกประเภทของการวิจัยตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย
Kumar (1999) Neuman (2000) และ Babbie (2004) จำแนกประเภทของการวิจัยตามจุดมุ่งหมายของการวิจัย สามารถจำแนกได้ 4 ประเภท ดังนี้
- การวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) เป็นการวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับบริบท เหตุการณ์ ปัญหาต่าง ๆ เช่น การศึกษาเจตคติของพนักงานที่มีต่อการทำงานของหน่วยงาน การศึกษาความต้องการของชุมชน เป็นต้น
- การวิจัยขั้นสำรวจ (Exploratory Research) เป็นการวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือการวิจัย เพื่อพัฒนาเทคนิค กระบวนการ เครื่องมือ กำหนดแนวคิดใหม่ ๆ ตั้งสมมติฐานในการวิจัยต่อไปในอนาคต
- การวิจัยเชิงอรรถาธิบาย (Explanatory Research) เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของปรากฏการณ์ โดยมุ่งที่จะตอบคำถามว่าทำไม (why) แล้วว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร (how) มีสาเหตุมาจากอะไร (what) และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น การวิจัยประเภทนี้จะพยายามชี้ให้เห็นว่าตัวแปรใดสัมพันธ์กับตัวแปรใดบ้าง และสัมพันธ์กันอย่างไรในเชิงของเหตุและผล
- การวิจัยเชิงทำนายหรือการวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (Predictive or Correlational Research) เป็นการวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ หรือตัวแปร เพื่อใช้ในการพยากรณ์ในอนาคต

ขอบเขตของ การวิจัยMBA
เนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวทางธุรกิจในสภาพปัจจุบัน ทำให้ปัจจัยที่เป็นกิจกรรมทางธุรกิจมีการขยายตัวอย่างกว้างขวางขึ้น บางปัจจัยที่เป็นกิจกรรมทางธุรกิจในอดีตถูกละเลยไม่จำเป็นต้องนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขัน ก็สามารถทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจให้ดำรงอยู่ได้ แต่ในสภาพปัจจุบัน สภาพการแข่งขันที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น กิจกรรมทุกกิจกรรมเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างศักยภาพทางการแข่งขันอย่างลึกซึ้ง จึงทำให้ขอบเขตของการวิจัยกิกรรมทางธุรกิจ จำเป็นต้องขยายขอบเขตเพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมทางธุรกิจในปัจจุบันด้วย มิฉะนั้นองค์การอาจจะไม่สามารถพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้
ปัจจัยพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจประกอบด้วย คน เงิน วัตถุดิบและวิธีการ การดำเนินธุรกิจต้องมีหลักฐานจากการเป็นผู้ประกอบการในแต่ละประเภทของธุรกิจ และรูปแบบของการประกอบธุรกิจที่เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับธุรกิจที่แตกต่างกัน ในสมัยอดีตขอบเขตกิจกรรมต่างๆ ทางธุรกิจประกอบด้วย การจัดการ การผลิต การตลาด การขนส่ง การประกันภัย การบัญชี และการเงิน เป็นต้น แปลเนื่องจากสภาพการณ์ที่เป็นแปลงอยู่ตลอดเวลา ความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจเริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากความจำเป็นที่ธุรกิจต้องนำผลการวิจัยไปใช้ในการตัดสินใจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความจำเป็นในการสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน ต้องทำให้สินค้ามีความแตกต่าง ต้องการลดต้นทุนการผลิตให้ได้ต่ำที่สุด สามารถตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าให้ได้รวดเร็วที่สุด ฉะนั้นผู้จัดการทางธุรกิจจึงจำเป็นต้องนำเอาทรัพยากรต่างๆ ขององค์การมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด อย่างมีคุณค่า ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การ ด้วยการดำเนินงานในทุกขั้นตอนให้ประหยัดที่สุด และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และต้องพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคตลอดเวลา ตลอดจนสามารถปรับธุรกิจของตนให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ของชุมชนและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้
ดังนั้น ขอบเขตของการวิจัยกิจกรรมทางธุรกิจในปัจจุบัน จึงประกอบด้วย การวิจัยทางด้านการจัดการ การวิจัยทางด้านทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยด้านการผลิต การวิจัยด้านการตลาด การวิจัยด้านการเงิน การวิจัยด้านการบัญชี การวิจัยด้านนวัตกรรมทางธุรกิจ การวิจัยด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน การวิจัยด้านพันธมิตรและเครือข่ายวิสาหกิจ การวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- การวิจัยทางด้านการจัดการ (Management Research) การวิจัยทางด้านการจัดการต้องพิจารณากิจกรรมทางธุรกิจตามหน้าที่หรือกระบวนทางจัดการ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การนำ (Leading) และการควบคุม (Controlling) หรืออาจพิจารณากิจกรรมทางธุรกิจตามกระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งประกอบไปด้วยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม การนำกลยุทธ์ การดำเนินตามกลยุทธ์ การประเมินและควบคุมกลยุทธ์ เป็นต้น
- การวิจัยทางด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Research) การจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์การธุรกิจ เริ่มตั้งแต่ก่อนที่ทรัพยากรมนุษย์จะเข้ามาร่วมปฏิบัติการกับองค์การ จนกระทั่งสิ้นสุดการปฏิบัติงานจากองค์การไปแล้ว ฉะนั้นขอบเขตของการวิจัยกิจกรรมทางธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์จึงเริ่มตั้งแต่ก่อนที่ทรัพยากรมนุษย์จะเข้ามาร่วมงานกับองค์การซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมตั้งแต่การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ การวิเคราะห์งาน การสรรหา การคัดเลือก ในขณะที่ทรัพยากรมนุษย์เข้ามาปฏิบัติงานกับองค์การยังต้องเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการธำรงรักษาให้ทรัพยากรมนุษย์ขององค์การมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้ผลตอบแทน จัดการฝึกอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จัดสรรสวัสดิการและเสริมสร้างสุขอนามัยในการปฏิบัติงาน ตลอดจนกำหนดแนวทางความก้าวหน้าในอาชีพของทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ นอกจากนี้หลังจากที่ทรัพยากรมนุษย์ได้สิ้นสุดการปฏิบัติงานจากองค์การไปแล้วยังเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการเพื่อผู้เกษียณอายุ การให้บำเหน็จ บำนาญ ทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินทดแทน หรือผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น
การทำวิจัยmba ด้านการผลิต (Production management Research)
กิจกรรมด้านการผลิตทางธุรกิจจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลัก 3 ขั้นตอน ฉะนั้นการวิจัยด้านการผลิตจึงเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผลิตซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินการผลิต ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การพิจารณาตัดสินใจว่าจะเลือกผลิตสินค้าหรือบริการชนิดใด ปริมาณเท่าไหร่ และจะใช้ระบบการผลิตแบบใด ขั้นตอนการดำเนินการผลิต เป็นขั้นตอนที่ต้องลงมือปฏิบัติงานทางด้านการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้แล้ว และขั้นตอนการควบคุมการผลิตซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องตรวจสอบและติดตามผลการผลิตเพื่อให้มั่นใจว่า ผลงานมีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากที่สุดทางด้านการผลิต อาจจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการจัดสายการผลิต การกำหนดระยะเวลาการผลิต การแจกจ่ายงาน การตามงาน และการควบคุมคุณภาพ ฉะนั้นขอบเขตการวิจัยกิจกรรมทางด้านการผลิตจึงเริ่มตั้งแต่ การวางแผนการผลิต ดำเนินการผลิต จนกระทั่งเสร็จสิ้นการผลิต
- การวิจัยด้านการตลาด (Marketing Research) หัวใจของการตลาดคือส่วนประสมทางการตลาด Marketing Mix ประกอบด้วยกิจกรรม 4 P’s สำหรับธุรกิจประเภทผลิตสินค้าหรือ 7 P’s สำหรับธุรกิจประเภทบริการหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการ ฉะนั้นขอบเขตการวิจัย กิจกรรมทางด้านการตลาด จึงควรต้องครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับส่วนผสมทางการตลาดทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) บุคลากร (People) ลักษณะทางกายภาพ (Physical evidence) และกระบวนการในการให้บริการ (Process) และอาจจะต้องพิจารณาถึงส่วนผสมทางการตลาดในมุมมองของลูกค้าด้วย ซึ่งประกอบด้วย 7 C’s ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ (Customer Value) ต้นทุน (Cost to customer) ความสะดวก (Convenience) การติดต่อสื่อสาร (Communication) การดูแลเอาใจใส่ (Caring) ความสำเร็จในการตอบสนองความต้องการ (Completion) และความสะดวกสบาย (Comfort) ซึ่งส่วนผสมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้รับการตอบสนองอย่างสมบูรณ์แบบในมุมมองของลูกค้า
- การวิจัยด้านการเงิน (Financial Research) ขอบเขตการวิจัยกิจกรรมทางด้านการเงินจะต้องเกี่ยวข้องกับหน้าที่ทางการเงินของธุรกิจ ซึ่งประกอบกิจกรรมทางการเงินสำคัญ 6 ประการ ซึ่งประกอบด้วย การใช้เงินทุน (Investment) การจัดหาเงินทุน (Financing) การรักษาสภาพคล่องของกิจการ (Liquidity) การสร้างสมรรถภาพในการหากำไร (Profitability) การรักษาเสถียรภาพในการดำเนินการทางการเงิน และการรักษาสถานะการเงินให้อยู่ในระดับที่มั่นคง
- การวิจัยด้านการบัญชี (Accounting Research) กิจกรรมด้านการบัญชีเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์รายการค้า นำรายการค้ามาทำการบันทึกบัญชี และการดำเนินการจัดทำงบการเงิน ซึ่งประกอบด้วยงบต่างๆ เช่น งบดุล งบกําไรขาดทุน งบกระแสเงินสด ฯลฯ ซึ่งข้อมูลทางการบัญชีที่จัดทำขึ้นจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อการจัดการภายในองค์การ และรายงานบุคคลภายนอกหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียกับองค์การ ฉะนั้นขอบเขตการวิจัยกิจกรรมทางด้านการบัญชีจะต้องครอบคลุมวัตถุประสงค์ หรือจุดมุ่งหมายในการนำข้อมูลทางการบัญชีไปใช้
- การวิจัยด้านนวัตกรรมทางธุรกิจ (Business of Investment Research) ในสภาพปัจจุบัน เป็นยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economic) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว ลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลาย และเรียกร้องมากขึ้น วัฏจักรของสินค้ามีอายุสั้นลง คู่แข่งขันมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนแปลงในลักษณะเชิงพลวัต (Dynamic) การดำเนินธุรกิจในสภาพเป็นแนวโน้มปัจจุบันตั้งจำเป็นแข่งขันกันสร้างนวัตกรรมเป็นหลักสำคัญ การสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจประกอบด้วย นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Investment) นวัตกรรมกระบวนการ (Process Investment) นวัตกรรมการบริหารจัดการ (Managerial Investment) ธุรกิจต่างต้องการความอยู่รอด และได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาวอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการสร้างหรือคิดค้นนวัตกรรมตลอดเวลา ฉะนั้นขอบเขตของการวิจัยกิจกรรมทางด้านนวัตกรรมจึงต้องครอบคลุมทุกนวัตกรรมทั้งผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการ และนวัตกรรมการบริหารจัดการ
- การวิจัยด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (Logistics and supply chain Research) ความสำคัญของโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจในโลกยุคโลกาภิวัตน์ อาจถือได้ว่า เป็นที่มาของความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ดีที่สุด ในการพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ต่างมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านการตลาด ความต้องการในการจัดส่งสินค้าของลูกค้ามีระยะเวลาสั้นลง แต่ความถี่ในความต้องการของลูกค้ามีความเพิ่มสูงขึ้น วัฏจักรของผลิตภัณฑ์มีระยะเวลาที่สั้นลง มีการแบ่งประเภทผลิตภัณฑ์มากขึ้น ลูกค้ามีความต้องการที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น อันเกิดจากการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์อื่น ๆ การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนนั้นเป็นการจัดการแบบบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ โดยเป็นการประสานงานกันระหว่างสมาชิกภายในซัพพลายเชนตั้งแต่ผู้จัดส่งวัตถุดิบไปจนถึงผู้บริโภค ภายใต้เป้าหมายของการลดต้นทุนภายในระบบ และการเพิ่มระดับการให้บริการ นำไปสู่ประสิทธิภาพและการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้นขอบเขตของการวิจัยกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจึงเริ่มตั้งแต่กิจกรรมต้นน้ำไปจนถึงกิจกรรมปลายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการกระจายสินค้า สินค้าคงคลัง การขนส่ง และสารสนเทศ ฯลฯ
- การวิจัยด้านพันธมิตร และเครือข่ายวิสาหกิจ (Alliance and Cluster Research) ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเชิงพลวัต (Dynamic) ไม่ว่าผู้ประกอบการจะต้องการแข่งขันกับผู้อื่นหรือไม่ก็ตาม แต่สภาพธุรกิจในปัจจุบันทำให้ไม่มีทางเลือก ผู้ประกอบการทุกประเภททุกขนาดถูกบีบบังคับให้ต้องปรับตัว เพราะความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลายมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันด้วยวิธีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster) หรือพันธมิตร (Alliance) จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวที่จะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจเพื่อแสวงหาโอกาสในอนาคต ขอบเขตการวิจัยกิจกรรมทางด้านพันธมิตรและเครือข่ายวิสาหกิจจึงสามารถดำเนินการวิจัยได้ทุกขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่มสร้างกลุ่ม การวิเคราะห์ การวางยุทธศาสตร์ การบูรณาการกิจกรรมและแผนการดำเนินงาน การถ่ายโอนจากแผนสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการเชื่อมโยงกิจกรรมและความร่วมมือ เป็นต้น
- การวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ (Business Economics Research) เป็นการนำทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางด้านทรัพยากรความต้องการในสินค้า หรือประสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) เป็นต้น
- การวิจัยทางสังคมศาสตร์อื่น ๆ (Social Science Research) ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เป็นการวิจัยหาความสำคัญระหว่างธุรกิจกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น สังคม กฎหมาย การเมือง คู่แข่งขัน ลูกค้า การศึกษา วัฒนธรรมทางสังคม อำนาจในการซื้อ รายได้ประชาชาติ และอัตราการจ้าง เป็นต้น
อ้างอิง