การทำวิทยานิพนธ์ หรือ วิจัยปริญญาโท วิจัยระดับมหาบัณฑิต
การสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท หรือ มหาบัณฑิต จำเป็นต้องผ่าน การทำวิทยานิพนธ์ หรือ วิจัยระดับปริญญาโท และอาจเรียกชื่อต่างกันไปตามโครงสร้างหลักสูตรที่คณะและสถาบันการศึกษานั้นๆ กำหนด เช่น ภาคนิพนธ์ สารนิพนธ์ โปรเจค ค้นคว้าอิสระ (Independent Study : IS) ปัญหาพิเศษ หรือ ปริญญานิพนธ์ เป็นต้น
ความหมายการทำวิทยานิพนธ์
วิทยานิพนธ์ มีกระบวนการหรือรูปแบบการทำงานไม่แตกต่างจากการทำวิจัยทั่วไป วิทยานิพนธ์ (Thesis หรือ Dissertation) หมายถึง เรื่องที่เรียบเรียงขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ตามแบบแผนและลําดับ ขั้นตอน ของวิธีการวิจัยนั้น ๆ ประกอบด้วย ความคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะอย่างมีเหตุผลและมีหลักเกณฑ์ โดยมุ่งให้ผู้ทําวิทยานิพนธ์ รู้จักวิธีการศึกษาค้นคว้าอย่างมีเหตุผล มีระบบและสามารถรายงานผลของการศึกษาได้โดยใช้ภาษาที่ถูกต้องและรัดกุม เป็นการทําวิจัยเพื่อเสนอรับปริญญาในลำดับต่อไป
เทคนิคการทำวิทยานิพนธ์
ขั้นตอนต่างๆ สำหรับการทำวิทยานิพนธ์ที่นำเสนอนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญ ซึ่งหากผู้ทำวิทยานิพนธ์ มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน และมีระบบระเบียบ จะทำให้การทำวิทยานิพนธ์สำเร็จได้ภายในเวลาที่กำหนดและงานมีคุณภาพดี 7 ขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์ที่ถูกต้องดังนี้
1. กำหนดชื่อเรื่อง (Thesis Topis)
การกำหนดชื่อเรื่องหรือหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ดี ควรเป็นชื่อที่ผู้ทำวิทยานิพนธ์สนใจ มีความถนัด และควรเป็นเรื่องอยู่ในสาขาที่เรียน หากยังไม่ทราบ สามารถสืบค้นได้จาก วิทยานิพนธ์ที่ทำสำเร็จ และมีการตีพิมพ์เรียบร้อยแล้ว โดยอาจจะเป็นวิทยานิพนธ์ของรุ่นพี่ที่เคยศึกษาในคณะ หรือ วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยอื่นทั้งในและต่างประเทศ
2. รีวิว (Review) วิทยานิพนธ์เก่า
การรีวิว หรือ การทบทวนวรรณกรรม ตรงกับภาษาอังกฤษ คือ Literature Review ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดฉบับเต็มในเนื้อหาของบทที่2 ซึ่งเป็นการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยผู้วิจัยต้องศึกษาทฤษฎีซึ่งดูจากหัวข้อหรือชื่อเรื่องที่เราศึกษา ดูว่ามีทฤษฎีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง และศึกษางานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ที่มีคนทำไว้แล้ว ในหัวเรื่องที่เหมือนกันหรือคล้ายใกล้เคียงกัน
3. การสร้างตัวแปรในกรอบแนวคิดงานวิจัย (Conceptual Framework)
การทำวิทยานิพนธ์ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญหนึ่ง ที่เป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางของงานวิทยานิพนธ์นั้นๆ และถือว่าเป็นปัญหาหลักสำหรับนักวิจัยมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์มากนัก การกำหนดกรอบแนวคิดมีหลายรูปแบบ ทั้งการกำหนดแบบตัวแปรต้นและตัวแปรตาม และการกำหนดกรอบแนวคิดตามเนื้อหาของการวิจััยกรอบแนวคิดถือเป็นหัวใจหลักของการวิจัยเลยทีเดียว จึงต้องปรึกษาผู้รู้หรืออาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อกำหนดกรอแนวคิดที่ถูกต้อง จะเป็นแนวทางในการทำวิทยานิพนธ์ไม่ออกแนวประเด็นสำคัญของการศึกษา
4. การกำหนดขอบเขตของการศึกษา (Scope of Research)
ขอบเขตของการทำวิทยานิพนธ์ หรือ ขอบเขตของการศึกษา(หรือวิจัย) โดยทั่วไป ประกอบด้วย
- เนื้อหา คือระบุว่าจะศึกษาทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร ครอบคลุมเนื้อหาประมาณไหน
- ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง กำหนดข้อมูลประชากร และกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามหลักสถิติการวิจัย
- พื้นที่และระยะเวลาที่ศึกษา เป็นการกำหนดให้ชัดเจนว่าจะศึกษาพื้นที่และระยะเวลาใด
5. เครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัยเพื่อใช้ในวิทยานิพนธ์
โดยทั่วไปเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำวิทยานิพนธ์หรือการทำวิจัย จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ สำหรับวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จะใช้เครื่องมือวิจัยคือแบบสอบถาม (Questionnaire) ส่วนงานวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ที่มุ่งเน้นแนวทางการทำวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จะเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth interview) เป็นหลัก หรืออาจจะมีการสังเกตุการณ์และการสนทนากลุ่มร่วมด้วย เป็นต้น
6. สถิติในการวิจัย ประกอบในวิทยานิพนธ์ :
เป็นเรื่องที่ทำให้คนทำวิทยานิพนธ์ส่วนใหญ่ท้อ เนื่องจากไม่เข้าใจสถิติ ไม่เข้าใจสูตร ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณ ไม่เข้าใจการหาค่า ไม่เข้าใจการกำหนดตัวแปร ไม่เข้าใจการแปรผล ไม่เข้าใจการสรุปผลจากตาราง ซึ่งประเด็นนี้ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าอย่างมากโดยทั่วไปแล้วสถิติที่ใช้ในการทำวิจัยระดับปริญญาโท จะประกอบด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติพยากรณ์ที่ใช้มักจะเป็น T-test และ F-test หรือ Chi-Square
7. การสรุปและอภิปรายผล ปัญหาสุดท้ายวิทยานิพนธ์ :
เมื่อถึงขั้นตอนนี้บางคนอาจตกม้าตาย เนื่องจากทำเองมาตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นทำสถิติด้วยตนเอง แต่ต้องมาเจอปัญหาการอภิปรายผล หลักง่ายๆ ของการอภิปรายผลคือ เราต้องเขียนให้ได้ว่า ผลการวิจัยวิทยานิพนธ์ของเรา สอดคล้อง คล้ายคลึง ได้ผลใกล้เคียงกับวิทยานิพนธ์ของใคร หรือหากไม่สอดคล้องเลย ให้เขียนว่า เราค้นพบอะไร และจะสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่าง ซึ่งต้องเขียนต่อไปในข้อเสนอแนะ
ส่วนประกอบของวิทยานิพนธ์
วิทยานิพนธ์แบ่งออกได้เป็น 5 ส่วน คือ
1. ส่วนนํา (Preliminary Materials)
2. ส่วนเนื้อความ (Body of the Thesis)
3. ส่วนอ้างอิง (Reference Materials)
4. ภาคผนวก (Appendices)
5. ประวัติผู้เขียน (Biography)
References