เทคนิคการทำวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ Quantitative and Qualitative Research
เทคนิคการทำวิจัยเชิงคุณภาพ หรือ Qualitative Research , Qualitative Analysis และการทำวิจัยเชิงปริมาณ เป็นเทคนิคการทำวิจัยที่นักวิจัยและนักศึกษาควรเรียนรู้และเข้าใจลักษณะและรูปแบบของการทำวิจัยที่แตกต่างกันของการทำวิจัยทั้ง 2 แบบ
การทำวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
เทคนิคการทำวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญมากสำหรับการทำวิจัยที่มุ่งเน้นผลการศึกษาที่ถูกต้อง ครบถ้วน ได้มุมมอง และประเด็นที่ลึกซึ้ง หากสามารถทำวิจัยที่มีการผสมผสานรูปแบบการทำวิจัยทั้งสองแบบ นอกเหนือจากการทำวิจัยเชิงปริมาณ ที่มุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามหรือข้อมูลทุติยภูมิประเภทอนุกรมเวลาเป็นหลัก หรือการทำวิจัยเชิงคุณภาพที่ไม่สามารถสรุปข้อมูลด้วยตัวเลข สถิติ และการทดสอบสมมติฐาน
การทำวิจัยเชิงคุณภาพสามารถทำควบคู่กับการทำวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งจะทำให้ได้ผลการศึกษาที่ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบมากกว่าการทำวิจัยประเภทใดประเภทหนึ่ง
การทำวิจัยหรือการทำวิทยานิพนธ์ด้วยเทคนิคการวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นการมุ่งแสวงหาความรู้ ความเข้าใจพฤติกรรมและปรากฎการณ์ที่สนใจ ด้วยการพิจารณาปรากฏการณ์สังคมจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นตามความจริงในทุกมิติ ให้ความสนใจข้อมูลด้านความรู้สึกนึกคิด การให้คุณค่าและความหมาย กับปัจจัยต่าง ๆ รวมไปถึงค่านิยมหรืออุดมการณ์ของแต่ละบุคคลที่มีความแตกต่างกัน การวิจัยเชิงคุณภาพมุ่งเน้นการเข้าไปมีส่วนร่วมหรือการสัมผัสกับข้อมูลหรือปรากฏการณ์โดยตรง โดยโดยทั่วไปจะใช้เวลานานในการศึกษา เก็บรวบรวมข้อมูลและติดตามสิ่งที่สนใจศึกษาในระยะยาว การวิจัยเชิงคุณภาพไม่ไม่เน้นการใช้สถิติตัวเลขในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่มุ่งเน้นใช้การสังเกตและการสัมภาษณ์เป็นวิธีหลักในการ เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการตีความสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย (inductive)
ลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงคุณภาพ
1. เน้นข้อมูลด้านความรู้สึกนึกคิด จิตใจ การให้ความหมายและคุณค่ากับสิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงค่านิยมหรืออุดมการณ์ของบุคคล
2. เป็นการศึกษาปรากฏการณ์ในบริบทสังคมและวัฒนธรรม ตลอดบริบทของสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันตามสภาพความเป็นจริงในภาพรวมโดยการมองจากหลายแง่มุม มักจะมีการวิจัยในสนาม (Field research)
3. เป็นการศึกษา รวบรวมข้อมูล สังเกตการณ์ และติดตามระยะยาวและเจาะลึกเพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์สังคม
4. การวิจัยเชิงคุณภาพ ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกวิจัยโดยการเข้าไปสัมผัส สร้างความสนิทสนมและความไว้เนื้อเชื่อใจ
5. ใช้การพรรณนาหรือบรรยายความให้เห็นรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพทั่วไปของชุมชนหรือกรณีที่ศึกษา ตลอดจนใช้การวิเคราะห์ตีความโดยนำข้อมูลเชิงรูปธรรมย่อย ๆ หลาย ๆ กรณีเพื่อสรุปเป็นเชิงนามธรรม
6. ผู้วิจัยจะนำความรู้สึกนึกคิดส่วนตัวเข้าไปรวมอยู่ด้วย
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research)
การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการวิจัยเพื่อตอบปัญหาวิจัยที่มีการวัดค่าของตัวแปรหรือปัจจัยที่สนใจศึกษาออกมาเป็นตัวเลข การวิจัยเชิงปริมาณมุ่งเน้นการออกแบบวิธีการวิจัยให้มีการควบคุมตัวแปรหรือปัจจัยที่ต้องการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยหากเป็นการศึกษาตัวแปร 2 ตัวขึ้นไป จะเป็นการวิเคราะห์ตัวแปรเหล่าว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร โดยตัวแปรใดเป็นตัวแปรอิสระ ตัวแปรใดเป็นตัวแปรตาม รวมถึงการจัดเตรียมเครื่องมือรวบรวมข้อมูลให้มีคุณภาพ จัดกระทำสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐาน และใช้วิธีการทางสถิติช่วยวิเคราะห์และประมวลข้อสรุปเพื่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน (Error) ให้น้อยที่สุด
ลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงปริมาณ
1.วัตถุประสงค์
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการศึกษาเพื่อให้ผลการศึกษาที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยใช้แนวที่เรียกว่า ปฏิฐานนิยม (Positivism) การอธิบายปรากฏการณ์จึงเป็นการนำเสนอเชิงตัวเลข ทางสถิติ เช่น ร้อยละของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของความพึงพอใจ
2.ลักษณะของข้อมูล
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นการวิจัยที่ต้องมีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสำรวจ โดยส่วนใหญ่จะต้องมีการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนหรือกลุ่มตัวอย่าง (sample) จำนวนมาก เพื่อทำการวิเคราะห์และทดสอบทฤษฎีหรือสร้างทฤษฎีและให้ความหมายในเชิงวิชาการมากกว่าการศึกษาแง่มุมแบบชาวบ้าน
3.การตั้งสมมติฐานและการทดสอบสมมติฐาน
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ถือได้ว่าข้อมูลจากการวิจัยเชิงปริมาณจะเหมาะสมกับการทดสอบทฤษฎีด้วยวิธีการแบบอุปนัย (Deductive) แนวปฎิฐานนิยมเป็นหลัก
4.การทดสอบความแม่นยำ เที่ยงตรงของข้อมูลและความเชื่อถือได้ของข้อมูล
เนื่องจากการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นการศึกษารวบรวมข้อมูลด้วยการเก็บข้อมูลจากคนจำนวนมากด้วยแบบสอบถาม คำถามในแบบสอบถามจึงจำเป็นต้องมีความชัดเจน
5.ระยะเวลา
การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถแยกออกจากการเก็บข้อมูลโดยเด็ดขาดได้ การวิเคราะห์ข้อมูลอาจให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์เชิงสถิติดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับชุมชนที่ไปศึกษา
ข้อดีและข้อด้อยของการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ
ข้อดีของวิจัยเชิงคุณภาพ
1. สามารถลงลึกในรายละเอียดต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในแนวราบและแนวดิ่งได้มากตามที่ต้องการ เพราะเป็นการศึกษาขนาดเล็กหรือจำกัดการศึกษาวิจัยในบางกลุ่ม บางสถานการณ์
2.การวิจัยเชิงคุณภาพมีความยืดหยุ่นในการออกแบบ การเลือกใช้เครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูล รวมไปถึงการดำเนินการวิจัย
3.การวิจัยเชิงคุณภาพสามารถใช้ข้อมูลได้หลากหลายชนิด ทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ สำหรับการวิจัยเรื่องเดียวกัน
4.ใช้วิธีเก็บข้อมูลได้อย่างหลากหลายวิธี ในงานวิจัยเรื่องเดียวกัน
5.เป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นถึงสิทธิและความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกวิจัย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างมีความสำคัญมาก กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถูกกระทำเท่านั้น หากแต่ยังต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยนั้น
ข้อด้อยของวิจัยเชิงคุณภาพ
1.ไม่เหมาะสำหรับการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากการวิจัยเชิงคุณภาพต้องมีการเข้าถึงข้อมูลเพื่อรวบรวมรายละเอียดเชิงลึกซึ่งไม่เหมาะกับการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือมีขนาดใหญ่
2.เนื่องจากการวิจัยเชิงคุณภาพมีความยืดหยุ่นในการดำเนินการวิจัย ซึ่งหากผู้วิจัยมีประสบการณ์น้อยหรือไม่เพียงพอ จะก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องความน่าเชื่อถือของการใช้เครื่องมือ และความถูกต้องตรงประเด็นของผลการศึกษา
3.ส่วนใหญ่การวิจัยเชิงคุณภาพจะใช้การเลือกกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาแบบเจาะจง ทำให้การนำผลการศึกษาไปใช้ในวงกว้าง เป็นไปอย่างมีข้อจำกัด
4.กระบวนการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และข้อสรุปสำหรับเทคนิคการวิจัยเชิงคุณภาพ ค่อนข้างจะเป็นอัติวิสัย
5.ไม่เหมาะสำหรับใช้ทดสอบสมมติฐาน หรือทดสอบแนวคิดทฤษฏี
ข้อดีของวิจัยเชิงปริมาณ
1.มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนสำหรับการหาคำตอบ ตลอดจนเป็นการแจกแจงวัตถุประสงค์ของการศึกษา กำหนดขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจน สามารถหาคำตอบได้และวัดผล แปรผลได้แม่นยำ
2.ลักษณะการดำเนินงานวิจัย มีระบบที่ค่อนข้างแน่นอน สามารถศึกษากลุ่มตัวอย่างหรือข้อมูลที่มีจำนวนมากหรือขนาดใหญ่ได้
3.เนื่องจากการวิจัยเชิงปริมาณสามารถศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างในการศึกษามีจำนวนมาก สามารถนำผลการศึกษาไปใช้ในวงกว้างได้
4.กระบวนการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ และข้อสรุปสำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะมีรูปแบบตายตัว ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ จึงแม่นยำ เที่ยงตรง เพราะใช้วิธีการทางสถิติ
5.สามารถนำมาใช้ทดสอบสมมติฐาน หรือทดสอบแนวคิด ทฤษฏีได้
ข้อด้อยของวิจัยเชิงปริมาณ
1.มีข้อจำกัดด้านรายละเอียดเชิงลึก เนื่องจากนักวิจัยไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้มากตามที่ต้องการเพราะเป็นการศึกษาขนาดใหญ่
2.ไม่มีความยืดหยุ่นในการออกแบบ การใช้เครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูล และการดำเนินการวิจัย เพราะมีรูปแบบการวิจัยที่ชัดเจน ตายตัว เช่น ศึกษาจากแบบสอบถามหรือข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบ เช่น ข้อมูลประเภทอนุกรมเวลา
3.ข้อมูลมีความหลากหลายค่อนข้างน้อย เพราะมุ่งเน้นที่ความสำคัญที่คำถาม ของผู้ถามเท่านั้น
4.วิธีเก็บข้อมูลไม่มีความหลากหลายสำหรับในงานวิจัยเรื่องเดียวกัน
5.เป็นการวิจัยที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกศึกษาเท่ากับการวิจัยเชิงคุณภาพ กล่าวคือ ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยกับกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ และไม่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในการวิจัยนั้น
จะเห็นได้ว่าทั้งการทำวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ล้วนแล้วแต่เป็นเทคนิคการทำวิจัยที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น งานวิจัยที่ต้องการมุ่งเน้นผลลัพธ์หรือผลการศึกษาที่มีประโยชน์ มีคุณค่าในเชิงวิชาการและการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาและการกำหนดนโยบายในระดับองค์กรจึงมีใช้เทคนิคการทำวิจัยทั้งสองแบบควบคู่กัน หรือการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed Research) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในการวิจัยหรือการเรียนระดับสูง โดยเฉพาะในระดับปริญญาเอก ทั้งหลักสูตร PH.D และ DBA. ซึ่งมีการใช้เทคนิคการทำวิจัยแบบผสมผสานเพิ่มมากขึ้น ทั้งงานวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ เช่น บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์และรัฐประสาสนศาสตร์ โลจิสติกส์และจัดการห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนงานวิจัยสายสังคมศาสตร์อื่นๆ ที่มีจำนวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง