เหตุผลที่ต้องทำวิจัย ทำไมต้องทำวิจัย
วิจัยในบทความนี้ จะหมายถึง วิจัยที่ต้องทำเพื่อให้สำเร็จการทำผลงานตามเกณฑ์หรือมาตรฐาน ของคณะต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีทั้งวิจัยระดับปริญญาตรี มักเรียกว่าปริญญานิพนธ์ หรือ โปรเจคจบ ส่วนวิจัยในระดับปริญญาโท จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ , กลุ่มที่1 คือ วิทยานิพนธ์ (Thesis) ซึ่งโดยทั่วไปจะมีหน่วยกิตค่อนข้างมากคือ 12 หน่วยกิต (credit) และ กลุ่มที่2 ได้แก่ ค้นคว้าอิสระ (Independent Study: IS) ภาคนิพนธ์ (Term Paper) หรือปัญหาพิเศษ ซึ่งกลุ่มที่2 นี้โดยทั่วไปจะมี 6 หน่วยกิต หรือบางคณะ บางมหาวิทยาลัย จะแบ่งออกเป็นการทำงาน 2 ครั้ง เรียกว่า workshop1 และ workshop2 ซึ่งจะมีอย่างละ 3 หน่วยกิต สำหรับ เหตุผลที่ต้องทำวิจัย หรือ ทำไมต้องทำวินจัย สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (ย้ำอีกครั้งว่า “วิจัย” ในบทความนี้คือ วิจัยที่นักศึกษา นิสิต ต้องทำ ในการเรียนการสอนระดับมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การทำวิจัยจะมีกระบวนการ มีหลักเกณฑ์ หลักการที่คล้ายคลึงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นวิจัยสำหรับนิสิตนักศึกษา หรือ วิจัยองค์กร วิจัยในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน
ก่อนที่จะนำไปสู่เหตุผลที่สามารถตอบผู้สงสัยว่าทำไมนักศึกษาก่อนจบจะต้องทำวิจัย ควรทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของ การทำวิจัย เสียก่อน
การวิจัย มีเป้าหมายเพื่อ ค้นหาคำตอบ ที่เป็นความจริง (Truth) ต้องการผลิตความรู้ใหม่ ที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้ โดยหวังว่า ความรู้ใหม่นั้น จะสะท้อนถึง ความจริงในธรรมชาติ สามารถทำนายการเปลี่ยนแปลง ของธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในตัวของมันเอง และในบางครั้ง ในบางขั้นตอน ของการวิจัย ก็มีการเปลี่ยนแปลง หรือควบคุม ธรรมชาติบางอย่าง
ทำไมต้องทำวิจัย เหตุผลที่ต้องทำวิจัย
สำหรับเหตุผลที่สำคัญของผู้ที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จะต้องผ่านกระบวนการทำวิจัยให้สำเร็จ สามารถสรุปได้ดังนี้
1.เป็นการทบทวนความรู้ พื้นฐานความรู้ องค์ความรู้ แนวคิด ทฤษฎี หลักเกณฑ์ หลักการ ต่างๆ ที่ได้เรียนจน(ใกล้) สำเร็จการศึกษา เช่น นิสิตนักศึกษา ที่เรียนในคณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด การทำวิจัย จะเป็นการกระตุ้นแกมบังคับ ให้ต้องมีการทบทวนเนื้อหาความรู้วิชาการทั้งหมดที่เรียนมาอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการที่ต้องเข้าสู่กระบวนการทดสอบความรู้ที่คณะกำหนด
การทำวิจัย จะเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่นิสิตนักศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จะต้องใช้เวลา สติปัญญา เพื่อการทบทวนความรู้ทั้งหมด เพื่อหาแนวทางที่สามารถนำไปสู่การทำวิจัย หรือ วิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ ค้นคว้าอิสระ ปัญหาพิเศษ ต่อไปได้
2. การทำวิจัย สามารถกระตุ้นให้ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่การเป็น “บัณฑิต” “มหาบัณฑิต” และ “ดุษฎีบัณฑิต” เกิดความต้องการที่จะสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ ที่มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และอาจนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียน ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างมหาศาล
ยกตัวอย่างเช่น ดุษฎีนิพนธ์ที่นำไปสู่การเป็นองค์กรธุรกิจระดับโลกอย่าง “Google” ก็เกิดขึ้นจากการเป็นงานระดับดุษฎีนิพนธ์ หรือ วิจัยปริญญาเอก ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา และสามารถนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจชั้นนำระดับโลก สร้างประโยชน์และมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลในเวลาต่อมา
3. ก่อให้เกิดระบบความคิดที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ทั้งนี้เพราะในชีวิตจริง ในการทำงานจริง เมื่อนิสิต นักศึกษา สำเร็จการศึกษาไม่ว่าจะระดับใด ตั้งแต่ปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก
เมื่อเข้าสู่อาชีพและวิชาชีพนั้นๆแล้ว การทำงานย่อมเผชิญกับปัญหาต่างๆนานา ซึ่งอาจจะตรงกับที่ได้เล่าเรียนมาโดยที่อาจจะไม่ต้องมีการคิดวิธีการแก้ปัญหา (Solution) ใหม่ๆ เพียงแต่นำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาแก้ไขได้เลย แต่ในบางกรณี หรือปัญหาจำนวนมากจากการทำงาน แม้ว่าจะอยู่ในเนื้อหา หรือขอบเขตวิชาที่ได้ศึกษามา แต่ต้องมีการอาศัยกระบวนการทำวิจัย ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหานั้นให้สำเร็จ ซึ่งกระบวนการทำวิจัย เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับในขณะนี้ว่าดีที่สุด
4. เพื่อนำผลไปประยุกต์หรือใช้ให้เป็นประโยชน์ จุดมุ่งหมายของการวิจัยนี้เกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาที่จะต้องค้นคว้าหาความจริงเพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยไปแก้ปัญหา หรือประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
5. เป็นการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์มีความอยากรู้อยากเห็น อยากทราบเหตุผลและปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงทำการวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบ สิ่งใดที่พอรู้อยู่บ้างก็ทำให้รู้และเข้าใจดียิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มพูนวิทยาการให้กว้างขวางลึกซึ้ง
ทั้งนี้เพราะในกระบวนการทำวิจัย ไม่ว่าจะสาขาใด ทั้งสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ จะต้องมีการศึกษา ทบทวน รวบรวม แนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ผู้วิจัยได้รับการศึกษาเพิ่มเติม จากเนื้อหาที่เคยได้เรียนมาแล้วในหลักสูตร
ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายของการวิจัยทั้ง ข้อ 4 และ ข้อ 5 นี้ มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ทั้งนี้เพราะจุดมุ่งหมายประการแรกมุ่งวิจัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ทำให้ค้นพบกฎหรือทฤษฎี ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามจุดมุ่งหมายของการวิจัยทั้งสองข้อ
เมื่อพิจารณาสิ่งที่ได้รับจากการทำวิจัย จะพบว่า เมื่อนิสิต นักศึกษา ที่ผ่านการสึกษาเล่าเรียน ให้ครบตามโปรแกรม หรือ ตามหลักสูตรที่แต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยได้กำหนดขึ้นแล้ว การทำวิจัย จะช่วยให้เขาเหล่านั้น สามารถใช้คำว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต และ ดุษฎีบัณฑิต ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เนื่องจากมีทั้งความรู้ที่ผ่านการสึกษาเล่าเรียนมาหลายปี และเต็มไปด้วยความยากลำบาก การสำเร็จ หรือ การปิดท้ายด้วยการทำวิจัย การทำวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ ค้นคว้าอิสระ ปัญหาพิเศษ หรือ อาจเรียกว่าเป็น Coursework Assignment หรือแม้แต่ Assignment ที่มีกระบวนการทำงานในรูปแบบของงานวิจัย จะสามารถเติมเต็ม หรือส่งเสริม สนับสนุนให้บุคคลเหล่านั้นมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อต้องออกไปทำงาน ออกไปใช้วิชาชีพที่ได้เล่าเรียนมาได้อย่างที่บุคคลในองค์กรนั้นๆจะคาดหวังว่า ผลการทำงานจะมีประสิทธิภาพ ตามที่คาดหวัง
อย่างไรก็ตาม การสำเร็จตามหลักสูตร ที่คณะ มหาวิทยาลัยนั้นๆ ได้กำหนด คือ ผ่านการศึกษาเล่าเรียนตามโครงสร้าง ตามรายวิชา เครดิต หรือ หน่วยกิตต่างๆ ที่กำหนดไว้ และยังสามารถผ่านกระบวนการทำวิจัย หรือ วิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ ค้นคว้าอิสระ ต่างๆ ยังไม่สามารถรับประกันคุณภาพ หรือการันตีว่าบุคคลนั้นๆ จะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการทำงานรับใช้องค์กรต่างๆ ได้ผลดีเลิศอยางที่คาดหวัง
ทั้งนี้ เพราะในการทำงานจริง โดยเฉพาะในโลกธุรกิจปัจจุบันนี้ เต็มไปด้วยการแข่งขัน ที่ดุเดือดและรุนแรง และการเปลี่ยนแปลงหรือ พลวัต เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง จำเป็นต้องอาศัย “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ การเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด เพื่อพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา จึงจะสามารถรักษาหรือเพิ่มพูนประสิทธิภาพ ผลการปฏิบติงาน ให้อยู่ในระดับที่ดี หรือเป็นไปตามที่คาดหวังขององค์กรได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง